search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6534108
การเปิดหน้าเว็บ:9378666
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  "สวยสั่งได้" ดีหรือร้าย ?
  07 กันยายน 2554
 
 


วันที่: 7 กันยายน 2554
โดย: สาลินีย์ ทับพิลา
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
ลิงค์: www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20110907/407798/สวยสั่งได้-ดีหรือร้าย--.html

โบท็อกซ์ ยกกระชับความหย่อนคล้อยของใบหน้า ช่วยให้ความสาวความสวยกลับคืนมาได้ในพริบตา แต่รู้หรือไม่ความสวยนั้นต้องเสี่ยงกับอะไรบ้าง

"ความใส่ใจในรูปร่าง รูปลักษณ์ของคนเรามีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทรนด์เกาหลีเข้ามา การทำศัลยกรรมรวมถึงการฉีดสารยกกระชับ และสารเติมเต็มที่เรียกกันว่า ฟิลเลอร์ (Filler) เป็นสิ่งที่นิยมอย่างกว้างขวาง" นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามประสิทธิภาพเครื่องมือทางการแพทย์และ หัตถการโรคผิวหนัง สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าว

สิ่งที่ตามมากับความนิยมคือ การขาดความใส่ใจ ควบคุมดูแล แต่กลับให้น้ำหนักไปที่ราคา โดยไม่คำนึงถึงความสะอาด สุขอนามัยหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง

โบท็อกซ์ เป็นชื่อทางการค้าของ "โบทูลินั่ม ท็อกซิน" เป็นสารสกัดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมโบทูลินั่ม แบบเดียวกับที่พบในหน่อไม้ดองในปี๊บ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีฤทธิ์ไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว

เมื่อปี 2523 ดร.อลัน สก็อตต์ เริ่มนำสารดังกล่าวมาใช้ทางการแพทย์ โดยใช้รักษาภาวะตาเหล่และภาวะกล้ามเนื้อตาหดเกร็งผิดปกติ ต่อมาแพทย์ระบบประสาทวิทยานำมาใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งผิดปกติ

ปัจจุบัน  "โบทูลินั่ม ท็อกซิน" ถูกนำมาใช้รักษาหลายทาง เช่น รักษารอยย่นบนใบหน้าที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ  ลดขนาดหรือเปลี่ยนรูปทรงของกล้ามเนื้อ เป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปทรง หรือโครงสร้างของใบหน้าและกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ หรือรักษาภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ

แต่เมื่อถูกนำไปใช้เพื่อความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น การลดริ้วรอย ฉีดหน้าเรียว ลดน่องหรือแม้กระทั่งลดรอยเหี่ยวย่นหย่อนคล้อยของลำคอ แพทย์ผิวหนังเตือนให้ศึกษาข้อมูล ใส่ใจกับแพทย์ผู้ทำ รวมไปถึงชนิดของสารที่จะฉีดเข้ามาในร่างกายเราด้วย

"เมื่อเห็นเพื่อนทำแล้วดูดี ก็แห่ไปทำตาม โดยไม่ได้คำนึงว่า ผลลัพธ์ของคนแต่ละคนแตกต่างกัน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อดูว่าคนไข้มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมหรือไม่" นพ.จินดา กล่าว

ยกตัวอย่างการฉีดหน้าเรียว ซึ่งแพทย์จะต้องดูว่า คนไข้มีรูปหน้าเหลี่ยมจากสาเหตุไหน หากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวมีขนาดใหญ่ หนา การฉีดสารโบทูลินั่มท็อกซินเพื่อไปลดขนาดกล้ามเนื้อก็จะทำให้หน้าเรียวลง แต่หากกระดูกกรามใหญ่หรือเนื้อแก้มเยอะ สารใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้หน้าเล็กลง

ผู้ฉีดต้องมีประสบการณ์ เข้าใจกายภาพและโครงสร้างกล้ามเนื้อ เพราะการฉีดจะต้องทำให้ถูกเทคนิค มิเช่นนั้นอาจส่งผลข้างเคียงให้รูปทรงของอวัยวะที่ฉีดบิดเบี้ยว เช่น คิ้ว หางตา หรือกรณีฉีดหน้าเรียว ที่ทำให้ปากเบี้ยวเวลายิ้ม

สิ่งสำคัญอีกประการคือ คุณภาพของยา เมื่อความนิยมมีมาก จะมีผู้ผลิตยาราคาถูกเลียนแบบ โดยไม่มีมาตรฐาน เห็นได้ชัดจากคนไข้ของสถาบันโรคผิวหนังหลายรายที่ถูกส่งตัวมารักษาจากการฉีด สารฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่าน อย. แล้วเกิดผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมีหลายแบบ ตั้งแต่อาการหนังตาตก รูปคิ้วบิดเบี้ยวไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น การฉีดกระชับรอยเหี่ยวย่นบริเวณคอ เมื่อฉีดมากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อคออ่อนแรง  ส่งผลต่อการลุกนั่ง หรือกรณีการฉีดให้หน้าเรียว อาจทำให้ปากเบี้ยวเวลายิ้มจากการฉีดไม่ถูกเทคนิค หรือหากฉีดมากไปส่งผลให้ข้อต่อกรามบางลง ประสิทธิภาพการทำงานของกรามและขากรรไกรลดลง

นอกจากนี้ยังมีเทรนด์ฮิตจากการฉีดฟิลเลอร์ ที่ให้ผลข้างเคียงไม่ด้อยไปกว่าสารกระชับรอยเหี่ยวย่น

นพ.จินดาอธิบายว่า ฟิลเลอร์แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ฟิลเลอร์จากคอลลาเจนจากหมู วัว ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติภายใน 4-6 เดือน ซึ่งผู้ใช้อาจเกิดอาการแพ้ได้, ฟิลเลอร์ที่ย่อยสลายช้าภายใน 1-2 ปี และฟิลเลอร์ที่ไม่ย่อยสลายเลย เช่น ซิลิโคนและพาราฟิน ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้ อาจเกิดผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจกลายเป็นสารก่อมะเร็ง

"กรณีที่สารไม่บริสุทธิ์ คนไข้เสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อนี้ หากลุกลามเข้ากระแสเลือดอาจถึงตายได้ ขณะเดียวกันสารฟิลเลอร์จะต้องฉีดเข้ากระแสเลือด หากไม่ชำนาญจะมีโอกาสอุดตันเส้นเลือด เมื่อเลือดไม่หล่อเลี้ยงก็จะทำให้เนื้อบริเวณดังกล่าวเน่า เนื้อตาย" แพทย์ผิวหนังกล่าว

ผู้ใช้จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดี โดยสามารถเข้าไปค้นข้อมูลตัวยาที่ผ่านการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยาหรือ อย. ได้จากเว็บไซต์ของ อย. ในขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบชื่อของแพทย์ผิวหนัง ที่จะทำหน้าที่รักษาด้วยสารดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่ง ประเทศไทย

ตรวจสอบให้แน่ชัด จึงจะเรียกว่า "สวยสั่งได้" อย่างแท้จริง