วันที่: 3 เมษายน 2555 ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
สธ.สอบวินัย พบผิดจริง 14 คน ใน รพ.7 แห่ง พบ 1 ราย ที่กมลาไสย ขอชี้แจงความจริง แพทย์ชนบท จี้ ดีเอสไอ เร่งสืบสวนคืนภาพลักษณ์ ให้วงการ สธ.
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลัง คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.สธ.) มีมติเห็นพ้องหลังจากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงในโรงพยาบาล 9 แห่งจาก 842 แห่ง โดยจากการสอบสวนทางวินัย พบผิดจริง 7 แห่ง มีผู้ผิดวินัยร้ายแรง และไม่ร้ายแรงทั้งสิ้น 14 คน ว่า ตามขั้นตอนต้องมีการแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 14 คน เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ชี้แจงภายใน 1 เดือน ซึ่งล่าสุด มีผู้ที่เกี่ยวข้องขอแสดงความจำนงในการชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นจำนวน 1 ราย ที่โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จึงต้องรอให้มีการชี้แจงก่อน ขณะเดียวกัน คนอื่นๆ ที่รับผิดก็ต้องพิจารณาอีกทีว่า ฐานความผิดมากน้อยแค่ไหน อย่างในส่วนของวินัยร้ายแรงนั้น มีตั้งแต่ให้ออก ปลดออก และไล่ออก ทั้งหมดคาดว่า จะไม่เกิน 1 เดือน น่าจะทราบว่าแต่ละคนจะได้รับโทษอย่างไรต่อไป
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลังเดินทางเข้ายื่นหนังสือให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้เร่งรัดสืบสวนความจริงกรณีการเบิกจ่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน พร้อมทั้งยังเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการตรวจสอบกรณีความชัดเจนของผู้ที่เกี่ยวข้องตามหลักฐานอักษรย่อต่างๆ เพื่อคืนภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือ การทำลักษณะนี้ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถึงการเชื่อมโยงของขบวนการลักลอบ และค้ายาเสพติดได้ ในขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกเชื่อได้ว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปรามเยียวยาและฟื้นฟูด้านยาเสพติด ซึ่งได้จากโรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และได้มอบให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น เป็นหลักฐานที่มีอยู่จริงก่อนที่คณะทำงานฯจะเข้าไปตรวจพบ และหลักฐานชิ้นนี้ มีเบาะแสของผู้ที่เกี่ยวข้องที่อาจเชื่อมโยงถึงบุคคลหลายกลุ่ม ตั้งแต่นักการเมือง ตลอดจนผู้ที่ใกล้ชิดข้าราชการระดับสูง แต่กระทรวงสาธารณสุข กลับมีการดำเนินการสอบสวนเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็ก และมีการดำเนินการทางวินัยแบบเลือกปฏิบัติ เลือกลงโทษ และเลือกสั่งย้ายเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้บริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ถูกดำเนินการทางวินัย ไม่มีการดำเนินการสอบสวนผู้ใกล้ชิดข้าราชการระดับสูง ตลอดจนนักการเมือง หรือผู้ที่อยู่ในเบาะแส อาจเป็นการตัดตอนขบวนการค้ายาเสพติด ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก บั่นทอนความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย ที่สำคัญ ขอให้สืบสวนและสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เร่งด่วนและเป็นธรรมโดยไว และ ลงโทษตามระดับของความผิดอย่างชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติเหมือนกระทรวงสาธารณสุข ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า น่าสังเกตว่า ปัญหายาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีปัญหามาราว 1-2 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาเกิดปัญหาชัดเจนช่วงปีนี้ น่าคิดว่าช่วงก่อนหน้านี้ เพราะเหตุใด อย.จึงไม่สามารถตรวจสอบพบ ทั้งๆ ที่การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นหน้าที่หลักของ อย.เนื่องจากโดยหลักบริษัทยา ต้องแจ้งปริมาณการจัดส่งยาให้แก่สถานพยาบาลแก่ทาง อย.ขณะเดียวกัน ทางสถานพยาบาลก็ต้องแจ้งด้วยว่า สั่งซื้อไปเท่าใด โดยข้อมูลทั้งสองทางต้องตรงกัน แต่ปัญหาคือ หากไม่ตรงกัน โดยพบข้อมูลบริษัทยาแจ้งมากกว่า แสดงว่า อาจมีการสวมสิทธิ์ หรือหากพบข้อมูลการใช้ภายใจโรงพยาบาลมากเกินไปก็อาจมีการยักยอก จริงๆ ข้อมูลเหล่านี้ อย.มีหมด จึงไม่เข้าใจว่า ผิดพลาดตรงไหน เรื่องนี้ควรมีการชี้แจง และปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้นด้วย
|