search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6533002
การเปิดหน้าเว็บ:9377184
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  “วิทยา” พร้อมเดินหน้านโยบายความเสมอภาครักษามะเร็ง-เอดส์
  21 มิถุนายน 2555
 
 


วันที่: 21 มิถุนายน 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000076251



“วิทยา” รับคำสั่ง “ปู” เดินหน้านโยบายความเสมอภาคการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อกว่า 2 แสนคน พร้อมลุย โรคไตวายเรื้อรัง เกือบ 4 หมื่นคน ปรับระบบ 3 กองทุนใช้เกณฑ์เดียวกัน ได้รับดูแลต่อเนื่อง แม้เปลี่ยนสิทธิ หลังกรณีผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับบริการมาตรฐานเดียวประสบผลสำเร็จ

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐครั้งที่ 5 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การดูแลระยะยาว เรื่องยา การสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยใน 3 กองทุน ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องแม้มีการเปลี่ยนสิทธิ์ และการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Thailand eHealthcare Telemedicine CARE) โดยมี นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.ร่วมประชุมด้วย

โดย นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือ ร้อยละ 65.9 สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือ ร้อยละ 20.5 สิทธิข้าราชการ 12,059 คน หรือ ร้อยละ5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน หรือ ร้อยละ 8.3 โดยทั้ง 3 กองทุนได้มีการเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการรักษา การบริหารยา/การเปลี่ยนสูตรยา ระบบสารสนเทศ การจัดหน่วยบริการ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา โดยมีระบบสารสนเทศกลางที่เชื่อมโยงทุกระบบและรักษาความลับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีผู้ป่วย 38,780 คน แบ่งเป็น สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน โดย 3 กองทุนจะปรับเกณฑ์การเข้ารับบริการทดแทนไตเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้มาตรฐานกลาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รวมถึงปรับปรุงระเบียบให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิทธิรักษาพยาบาลให้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการเดิมอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ รวมถึงมีระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับประสานการรักษาการดูแลในภาวะภัยพิบัติ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทุกกองทุนดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษา รวมทั้งมีการบูรณาการการป้องกันเพิ่มเข้าไปในบริการด้วย ทั้งโรคเอดส์และโรคไต การให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยระดมทรัพยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ วิจัยสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรังทั้งโรคไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Thailand eHealthcare Telemedicine CARE)

ที่เชื่อมโยงการรักษาระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กับโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อปรึกษาแพทย์ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขยายให้ครอบคลุมและเพิ่มการบริการให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้านความก้าวหน้าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 2,353 คน ใน 191 รพ.เอกชน ใน 50 จังหวัด แบ่งเป็นบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ 28 และผู้ป่วยในร้อยละ 72 ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 42 และต่างจังหวัด ร้อยละ 58 เฉลี่ยผู้รับบริการวันละ 32 คน ซึ่งการให้บริการตามโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ ร้อยละ 92.6

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับ รพ.เอกชนเป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงระบบการสนับสนุนและการจัดการ เกี่ยวกับการย้ายผู้ป่วยหลังพ้นภาวะวิกฤต และค่าใช้จ่ายหลังพ้นภาวะวิกฤติ ทิศทางที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่อไป คือ 1.สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลให้เพียงพอต่อการรับกลับ 2.พัฒนาระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และระบบการส่งต่อของประเทศ 3.ปรับปรุงการจ่ายชดเชยค่าบริการให้สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม