search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6527406
การเปิดหน้าเว็บ:9371342
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  บี้นายกฯชะลอเซ็นTPP
  16 พฤศจิกายน 2555
 
 


วันที่: 16 พฤศจิกายน 2555
ที่มา: ไทยโพสต์ออนไลน์


“การ์ดโอบามา” วิตกจริตหนัก ผงะ! เจอเหี้ยไทยนึกว่าเป็น “มังกรโคโมโด” ซ้ำร้ายมองปืนใหญ่เก๋ากึ๊กเป็นอาวุธร้ายแรง “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ-นักธุรกิจ-เอ็นจีโอ” ประสานเสียง ชั่งน้ำหนักผลได้-เสียก่อนหนุน “ทีพีพี” เผยอาจถึงขั้นทำระบบประกันสุขภาพไทยหัวทิ่ม ค่ายาเพิ่ม 2 เท่า “สุกำพล” นำร่องลงนาม “พาเน็ตตา” ร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง

การเตรียมความพร้อมระบบรักษาความปลอดภัยในทำเนียบรัฐบาล เพื่อต้อนรับการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี โดยเจ้าหน้าที่เทคนิคสหรัฐและไทยได้นำอุปกรณ์ไอทีไปติดตั้งที่ตึกไทยคู่ฟ้า ขณะที่ฝ่ายสถานที่ก็ได้เร่งจัดเตรียมความพร้อมสถานที่ต้อนรับ ทั้งห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ที่ใช้เป็นสถานที่หารือร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีทั้งสองชาติ ตึกสันติไมตรีหลังในที่เป็นสถานที่แถลงข่าวผลการหารือ และตึกสันติไมตรีหลังนอก ที่ใช้สำหรับงานจัดเลี้ยงอาหารค่ำ พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์สนามหญ้าบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้าด้วย

โดยวันที่ 16 พ.ย. เวลา 23.00 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสหรัฐและไทยจะทำการซ้อมใหญ่แผนรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่กองบัญชาการกองทัพอากาศ กองบินที่ 6, โรงพยาบาลศิริราช, ทำเนียบรัฐบาล และโรงแรมที่พักของนายโอบามา ซึ่งสหรัฐได้เตรียมยานพาหนะรถยนต์กันกระสุน 30 คัน และเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ใช้ภารกิจเยือนไทยในครั้งนี้ด้วย

มีรายงานว่า ในการเตรียมสถานที่และจัดระบบรักษาความปลอดภัยของหน่วยล่วงหน้าสหรัฐที่ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่สหรัฐต่างตกใจอย่างมากเมื่อพบตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง ในบริเวณทำเนียบฯ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นมังกรโคโมโด สัตว์เลื้อยคลานนิสัยดุร้ายของอินโดนีเซีย โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐได้บันทึกภาพตัวเงินตัวทองนำมาถามเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งได้อธิบายว่าเป็นสัตว์ท้องถิ่นที่ไม่มีอันตราย รวมทั้งพื้นที่บริเวณนี้เดิมก็เป็นที่อยู่อาศัยของตัวเงินตัวทอง เนื่องจากคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมต่อคลองต่างๆ และมีม็อบนำมาปล่อยด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐระบุด้วยว่าสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยก็มีตัวเงินตัวทอง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐยังได้เข้าตรวจสอบและเก็บภาพปืนใหญ่โบราณที่ตั้งประดับอยู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้าอย่างละเอียดด้วย โดยเจ้าหน้าที่ไทยให้ข้อมูลว่าเป็นปืนโบราณที่นำมาตกแต่งสถานที่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีกระสุนหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด และก่อนหน้านี้มีปัญหานกเข้าไปทำรัง จึงได้นำกระดาษไปอุดไว้

สำหรับเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) นั้น ก็มีหลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เท่าที่ดูข้อตกลงไทยมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งต้องหารือร่วมกันอีกหลายรอบว่าข้อตกลงที่ทำนั้นประเทศได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และสหรัฐจะเรียกร้องอะไรบ้าง แต่หากตกลงแล้ว ก็ควรพิจารณาว่าความร่วมมือด้านใดควรทำก่อนหรือหลัง เพราะทีพีพีแตกต่างจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคการเงินที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบและดูความเชื่อมโยงกับการเปิดเออีซีด้วย

"สถาบันการเงินไทยของเราแม้แข็งแกร่งรับมือกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้ก็จริง แต่หากออกไปแข่งขันในต่างประเทศ ยังเสียเปรียบด้านฐานทุน เทียบกับสหรัฐแล้วเรายังสู้ไม่ได้ การเจรจาด้านนี้จึงต้องระมัดระวัง"

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หากไม่ทำวันนี้อนาคตก็ต้องถูกบีบให้ทำอยู่ดี แต่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าได้คุ้มเสียหรือไม่ แต่ที่ห่วงคือการเจรจาที่ไม่ได้เป็นการเจรจาบนโต๊ะ หรือเนกาทีฟลิสต์มากกว่า เพราะการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐรอบที่แล้วที่ล้มไปก็เพราะเรื่องแบบนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า และยังไม่มีใครพูดถึงคือ การที่ ครม.อนุมัติแผนการร่วมมือพันธมิตรป้องกันประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 ที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยด้วย

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวเช่นกันว่า เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องคิดว่าผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับเสียไปหรือไม่  โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจ

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การเจรจาในภาคบริการ, เกษตรกรรม, โลจิสติกส์ , ภาคการเงิน ธุรกิจไอที และสิทธิบัตรยา เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

นางจิราพร ลิมปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ทีพีพีคือสิ่งที่สหรัฐอยากได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ภาคการเงิน และการผูกขาดตลาดยา ซึ่งก็คือเอฟทีเอนั่นเองแต่เป็นความร่วมมือในภูมิภาคแปซิฟิกเท่านั้น

“จะเกิดการผูกขาดยา ซึ่งไทยต้องใช้จ่ายสูงขึ้น โดยปีที่ 5 ราคายาอาจสูงเป็นสองเท่าของปัจจุบัน หรือสูงขึ้นอีกกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี และจะส่งผลกระทบระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหลายอ่อนแอลง” นางจิราพรระบุ

รศ.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เตือนว่า เวลาที่เราจะสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ เราต้องทำอย่างสมดุลกัน อย่างล่าสุดที่เราจะสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐ เราก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับคู่แข่งของสหรัฐอย่างจีนด้วยเช่นเดียวกัน หากเราไปขึ้นกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากๆ จะทำให้เราจะเสียดุลความสัมพันธ์อีกชาติหนึ่ง ซึ่งจะสำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจไทย อย่าทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นขั้วของประเทศใดประเทศหนึ่ง

“ทีพีพีมีเป้าหมายเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงพร้อมๆ กัน เป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ต้องการขยายบทบาทในเอเชียแปซิฟิก และอีกด้านหนึ่งคือถ่วงดุลจีน ฉะนั้นเราจะตกบันไดพลอยโจนกับใครต้องคิดให้ดี ต้องรอบคอบมากๆ” รศ.สมภพกล่าว

ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีวอตช์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และมูลนิธิสุขภาพไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เรียกร้องชะลอการประกาศการเข้าร่วมเจรจาทีพีพี โดยเฉพาะการออกถ้อยแถลงข่าวร่วม เพราะจะมีผลผูกมัดทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยขอให้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียชัดเจน ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งหารือประชาชนก่อน

ส่วนนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. กมธ.ได้ส่งหนังสือถึงนายโอบามาผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ที่กัมพูชาด้วย และในวันที่ 14 พ.ย. ก็ได้ยื่นจดหมายดังกล่าวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยเช่นกัน

วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม นายลีออน อี. พาเน็ตตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และคณะ ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กระทรวงกลาโหมและคณะ พร้อมหารือในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการด้วย โดยหลังหารือ พล.อ.อ.สุกำพล และนายลีออน ได้ลงนามร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 การเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมุ่งเน้น 4 ด้าน คือ 1.ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการรับมือต่อปัญหาความท้าทายรูปแบบใหม่ 2.การส่งเสริมความมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคที่ไกลออกไปบนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ 3.การพัฒนาความพร้อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 4.การพัฒนาความสัมพันธ์การประสานงานและการสร้างความร่วมมือในทุกระดับ

“ประธานาธิบดีสหรัฐให้ความสำคัญกับมิตรประเทศในภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยประธานาธิบดีจะหารือเพิ่มเติมในประเด็นนี้ รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ กับนายกฯ ไทย ระหว่างเยือนสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งความตกลงหุ้นส่วนทางทหารครั้งนี้ นอกจากช่วยดำรงเสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาคแล้ว ยังถือเป็นการเตรียมพร้อม เพื่อรับกับภัยคุกคามและความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต” นายพาเน็ตตากล่าว

ด้านภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 14 พ.ย.นั้น ได้หารือกับนายเดวิด คาเมรอน นายกฯ อังกฤษ ซึ่งนายคาเมรอนยินดีจะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ และต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะได้ไปเยี่ยมชมแนวป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำเทมส์ เพื่อดูงานการบริหารจัดการน้ำ และแนวป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการไปพบนักเรียนและนักศึกษาทุนรัฐบาลไทยและทุนรัฐบาลอังกฤษ ก่อนเดินทางกลับไทยในเวลา 16.50 น. วันที่ 15 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย