วันที่: 5 ธันวาคม 2555 ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000148033
หมอประดิษฐ แจงนายกฯ ปูให้หลักการชัดเจน หากร่างการเจรจากรอบเอฟทีเอไทย-อียู เสียประโยชน์จะต้องต่อรอง ยันยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องการขยายสิทธิบัตรยา
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกรณีร่างกรอบการเจรจากรอบการค้า (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป ว่า ร่างกรอบการเจรจานี้เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี แล้วโฆษกรัฐบาลจะเป็นผู้แถลงให้ทราบ ซึ่งในหลักการนั้นรัฐบาลมีหลักการที่ชัดเจน เมื่อนำเรื่องกรอบการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วจะต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่ออนุมัติอีกครั้งเพื่อให้เป็นกรอบไปเจรจา และเมื่อเจรจาเสร็จแล้วได้ผลเป็นอย่างไรก็ต้องแจ้งผลเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติผลการเจรจา และยังต้องนำเข้ารัฐสภาอีก ในหลักการของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนว่าต้องไปต่อรอง โดยต้องไม่ให้เสียผลประโยชน์ของประเทศ เพราะฉะนั้นในหลายประเด็นที่หลายฝ่ายวิตก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรยา การเข้าถึงยา ซึ่งจะมีวิธีเจรจา และขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ ในหลักการจะไม่เสียสิทธิเดิมที่เรามีอยู่ และสมมติว่าหากเจรจาแล้วเขาไม่ยอมรับเรื่องนี้ เราก็จะไม่เจรจากับเขาในเรื่องนี้ นั่นหมายความว่าเราไม่ยอมรับในเรื่องที่เราจะเสียผลประโยชน์ รมว.สาธารณสุขกล่าว นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ในกรอบการเจรจาการค้านี้มีหลายเรื่องรวมถึงเรื่องยาด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรับทุกเรื่อง เราต้องต่อรองว่าเราต้องการแบบนี้ เช่นในเรื่องเกี่ยวกับยา หากการเจรจาเป็นไปตามที่ฝ่ายเราต้องการคือ เราไม่เสียประโยชน์ใดๆ ทั้งเรื่องการขยายสิทธิบัตรยา การคุ้มครองตัวยา ก็ถือว่าจบ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลมีหลักการที่ชัดเจนอยู่แล้ว การเจรจาเรื่องใดๆ นั้นต้องมีการต่อรอง เมื่อต่อรองกันแล้วไม่เสียประโยชน์เราก็จบ ถ้าเขาไม่ยอมเราก็ไม่คุยต่อ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้กรอบไว้อย่างชัดเจน นพ.ประดิษฐกล่าวด้วยว่า กลไกการเจรจากรอบการค้าโดยทั่วไปนั้น หากเริ่มต้นมาตรการที่จะมีผลเสียต่อประเทศไทยเราจะหยุดชั่วคราวก่อนเพราะถือว่าอยู่ระหว่างการเจรจา และถ้าเราเริ่มต้นเจรจาก่อนที่ผลจะออกมาในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นผลดีต่อประเทศมากกว่าไม่เจรจา ฉะนั้น การที่เราไปยุติ บอกว่าไม่อยากจะเริ่มต้นการเจรจาจะมีแต่ผลเสียต่อประเทศ
|